Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ส่องรูปแบบการเลี้ยงลูก ในยุคที่ใคร ๆ ต่างเรียกหาประชาธิปไตย

Posted By Plook TCAS | 15 ก.ย. 66
195 Views

  Favorite

          การเลี้ยงลูกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ จะเรียกว่าง่ายก็ง่าย เพราะมีตัวช่วย มีเครื่องมือ มีองค์ความรู้มากมายมาช่วยทำให้การเลี้ยงลูกของแต่ละครอบครัวมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่จะบอกว่ายาก ก็ต้องเรียกว่ายากมาก ๆ เช่นกัน เพราะต่อให้มีตัวช่วยมากมายแค่ไหน แต่คนที่ต้องเลี้ยงต้องดูแลลูก คือตัวคุณพ่อคุณแม่เอง และเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป จะใช้สูตรของใคร หน่วยงานไหน งานวิจัยใดมาปรับใช้ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับการเลือกประยุกต์ใช้ของคุณพ่อคุณแม่เอง วันนี้เลยอยากพาคุณพ่อคุณแม่มาส่องกระบวนการเลี้ยงลูก 3 รูปแบบ (ตามมุมมองของ หมอเดว หรือ รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม) ไปลองสำรวจดูกันค่ะ ว่าครอบครัวต่าง ๆ เขามีการเลี้ยงลูกรูปแบบไหนกันบ้าง แล้วการเลี้ยงลูกของครอบครัวเรา จะตรงกับรูปแบบไหนกันนะ

 

รูปแบบที่ 1 ครอบครัวที่เลี้ยงลูกโดยใช้อำนาจ

          ฟังชื่ออาจจะดูน่ากลัวกับบริบทของสังคมในยุคปัจจุบัน ที่ถือกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่บอกเลยว่าสำหรับรูปแบบการเลี้ยงลูกโดยใช้อำนาจนั้น จะเลี้ยงแบบนี้ก็ไม่ผิด เพราะอำนาจการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะตอนเล็กเป็นอำนาจอันชอบธรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และทำให้เด็กอยู่รอดปลอดภัย แต่ต้องมีศาสตร์และศิลป์ที่จะค่อย ๆ ลดอำนาจของตัวเองลง ไม่ใช่เคยคงอยู่อย่างไร ก็ยังคงใช้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าลูกจะเติบโตขึ้น อำนาจของพ่อแม่ก็ไม่ยอมลดลงเลย แบบนี้รับรองได้เลยว่า มีโอกาสจะเกิดอาการงัดข้อตอนเป็นวัยรุ่นอย่างแน่นอน

          อำนาจของพ่อแม่มีเต็ม 100% เวลาที่ลูกยังอายุน้อยกว่าสองปี เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่เมื่อเข้าสู่ปฐมวัยระบบนิเวศเปลี่ยน อำนาจของพ่อแม่จะเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ ลดลงเหลือ 60-70% เมื่อเข้าสู่ชั้นประถมมีเพื่อนมีคุณครูมีระบบนิเวศ มีพี่มีน้อง อำนาจของพ่อแม่จะลดเหลือ 50% จากนั้นเมื่อเด็กเริ่มก้าวสู่วัยรุ่นจะเริ่มกลับขั้วอำนาจของพ่อแม่จะกลายเป็น 10-30% กระทั่งก้าวสู่เยาวชนพ่อแม่จะเป็นติ่งห้อย ประเด็นอยู่ที่ว่าครอบครัวจะค่อย ๆ ถอดอำนาจตัวเองลงพร้อมกับการสร้างศาสตร์และศิลป์อย่างไร

 

รูปแบบที่ 2 ครอบครัวที่มีความรู้ แต่ไม่มีทักษะ

          ประเภทนี้ถือว่าเป็นประเภทที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ ครอบครัวที่มีความรู้แต่ไม่มีทักษะ บางครอบครัวไม่มีทั้งความรู้และไม่มีทั้งทักษะ บางบ้านอาจะมีทั้งความรู้มีทักษะ แต่ขี้เกียจเลี้ยงลูก หรือเสียโอกาสในการเลี้ยงลูก และบางบ้านหนักที่สุดคือ ไม่อยากเลี้ยงลูกเลยด้วยซ้ำ จะเห็นว่ามีครอบครัวลักษณะนี้ปรากฏเป็นข่าวมากขึ้น เป็นประเภทหนึ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรับภารกิจช่วยกันแก้ปัญหา

 

รูปแบบที่ 3 ครอบครัวที่มีหัวใจประชาธิปไตย สร้างการมีส่วนร่วม

          หากทำได้ตั้งแต่อนุบาล ต่อเนื่องมาประถมจนถึงมัธยม การันตีได้เลยว่า ครอบครัวลักษณะนี้อยู่เย็นเป็นสุขแน่นอน โดยบ้านต้องเป็นที่ที่มีความรัก อบอุ่น ไว้วางใจ ไม่ใช่เลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก โดยปกป้องมากจนเกินไป ไม่มีวินัย ไม่มีขอบเขตกติกา แต่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข วิธีง่าย ๆ คือทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงานบ้านเช็ดปัดกวาดถูบ้านซักผ้าล้างจาน เป็นหนึ่งแนวทางเสริมทักษะการจัดการชีวิตให้กับเด็ก

          นอกจากนี้ ต้องสื่อสารที่ดีต่อกัน ในหลักง่าย ๆ 3 ข้อคือ 1.ฟังอย่างเดียว 2.ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกที่ดี และ 3.ฟังแล้วเหลาความคิด อีกสิ่งสำคัญคือบ้านต้องมีคือ วินัยเชิงบวกไม่ใช่วินัยการลงโทษ คือมีเหตุผลใช้สติไม่ใช้อารมณ์

 

          ในยุคที่หลาย ๆ คนสนใจในเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมที่จะวางรากฐานประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยให้แก่ลูกน้อยของเรานะคะ เริ่มตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้รูปแบบการปกครองจากจุดเล็กที่สุดในสังคมนั่นคือครอบครัว ถ้าจุดนี้แข็งแกร่ง มั่นคง แข็งแรง และอบอุ่น รับรองค่ะว่า เด็กจะไม่เข้าใจผิดในเรื่องประชาธิปไตย จะเข้าใจได้ว่า คำสั่ง คำสอน การบังคับ การลงโทษ กฎเกณฑ์ กติกา การมีวินัย ความรับผิดชอบ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ครอบครัวที่มีหัวใจรักประชาธิปไตยค่ะ   

 

Auntie

 

ที่มาของบทความ

แนะหลักขั้นบันไดพ่อแม่เลี้ยงลูกถูกวิธี ชูครอบครัวพลังบวกมีหัวใจประชาธิปไตย

https://www.thairath.co.th/news/local/2368887

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow